รูปที่ 1 อันตรายจากสีทาบ้าน ที่มาของภาพ [1]
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักมีอาการเจ็บป่วยจากการทำงานในสำนักงานหรืออาศัยอยู่ในบ้านที่เพิ่งทาสีเสร็จใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการแสบจมูก ปวดศีรษะ วิงเวียน หรือง่วงซึม นั่นแสดงว่าคุณอาจกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับภัยจากสารเคมีโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว สารเคมีตัวนั้นก็คือ “สารฟอร์มาลดีไฮด์” นั่นเอง สารชนิดนี้ถือเป็นสารตกค้างที่แฝงตัวอยู่ในตัวอาคาร อุปกรณ์ตกแต่ง เครื่องใช้สำนักงาน โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เป็นต้น
สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) สูตรทางเคมีคือ CH2O เป็นก๊าซไม่มีสี จัดเป็นพิษที่ปนเปื้อนในอากาศที่เป็นปัญหาสุขภาพของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว [2]โดยทั่วไปสารชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมสี กาว และสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปอื่น ๆ ไอระเหยของสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่แฝงอยู่สิ่งเหล่านั้นซึ่งถือว่าเป็นภัยในที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ [3] และสำหรับคนที่ชอบทาเล็บด้วยสีสันงดงามเป็นชีวิตจิตใจ คุณรู้ตัวหรือไม่ว่า คุณกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับไอระเหยของสารชนิดนี้เช่นกัน โดยปริมาณความเข้มข้นของไอระเหยจากน้ำยาทาเล็บมีปริมาณสูงกว่าไอระเหยจากพื้นกระดานเคลือบกาวแลกเกอร์เสียอีกเมื่อเทียบสัดส่วนในพื้นที่ที่เท่ากัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผ้าม่านและเสื้อประเภทที่โฆษณาว่ารีดง่ายแต่ยับยาก มักมีสารฟอร์มาลดีไฮด์แอบแฝงอยู่ด้วย แต่การนำผ้าเหล่านั้นมาซักเพียง 1 ครั้ง สามารถช่วยปริมาณความเข้มข้นของสารชนิดนี้ลงได้ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉนั้น ทุกๆคนควรที่จะซักผ้าทุกชนิดก่อนใส่เพื่ออนามัยแก่ตัวท่านเองด้วย [4]
นอกจากภัยจากไอระเหยของสารฟอร์มาลดีไฮด์แล้วภัยในรูปสารละลายก็น่ากลัวไม่แพ้กัน สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์มีชื่อเรียกที่คุ้นหูทุกคนว่า “สารฟอร์มาลิน” หมายถึงสารละลายที่ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ประมาณ 37-40%ในน้ำและมีการเติมสารละลายเมทานอลประมาณ 10-15 % เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอร์มาลินเปลี่ยนรูปเป็นโพลิเมอร์พาราฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าฟอร์มาลินมาก สารฟอร์มาลิน ส่วนใหญ่แล้วนิยมนำมาใช้ในการดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ด้วยคุณสมบัติเด่นข้อนี้ ทำให้พ่อค้าและแม่ค้าแอบนำมาใช้ในการแช่ผักและเนื้อสัตว์โดยเฉพาะอาหารทะเล เพื่อให้อาหารเหล่านั้นดูสดและน่ากินได้นาน จนกระทรวงสาธารณสุขประกาศ สารเคมีชนิดนี้จัดเป็นสารอันตรายต่อผู้บริโภคและจัดเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พิษต่อสุขภาพ [3, 5, 6, 7]
ถ้าความเข้มข้นของสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่ร่างกายได้รับสูงเกิน 0.1 ppm ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา จมูกและทางเดินหายใจ แต่ถ้าได้รับปริมาณเข้มข้นสูงเกิน 100 ppm อาจทำให้หมดสติ และอาจถึงแก่ชีวิตในที่สุดเนื่องจากที่ความเข้มข้นสูงๆ สารฟอร์มาร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formaic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อาการเรื้อรังหากได้รับปริมาณน้อยแต่ระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกายต่างๆ หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้จากงานวิจัยของ Arts และคณะ [8] ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการปริมาณการได้รับสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง พบว่าคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดนี้ที่ระดับสูงกว่า 1 ppm เนื้อเยื่อโพรงจมูกจะถูกทำลายและมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งโพรงจมูกในอนาคตต่อไป
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น [6]
- สัมผัสทางผิวหนัง ให้รีบล้างออกทันทีด้วยน้ำสะอาดโดยมารินน้ำผ่านอย่างน้อย 15 นาที เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นล้างควรล้างด้วยน้ำยาแอมโมเนียความเข้มข้น 5%โดยปริมาตร หากเปื้อนร่างกายในปริมาณมากให้รีบอาบน้ำด้วยน้ำสบู่
- สัมผัสทางตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดโดยใช้น้ำเย็นไหลผ่านดวงตาอย่างน้อย 15 นาที หากยังมีอาการระคายเคืองอยู่ให้นำ
ผู้ป่วยไปพบแพทย์
- ทางเดินหายใจ ให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมายังสถานที่ อากาศบริสุทธิ์ และให้ผู้ป่วยสูดไอน้ำจากน้ำที่เติมแอมโมเนีย สำหรับสูดดมลงไป 2-3 หยด ถ้ามีอาการรุนแรงให้ช่วยผายปอดและปั๊มหัวใจ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
- หากกลืนหรือกินฟอร์มาลินเข้าไป ถ้าผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ดื่มน้ำตามเข้าไปปริมาณมากๆ หรือให้ดื่มน้ำนมตามเข้าไป หรือให้ activated charcoal เข้าไป พร้อมกับล้างบริเวณปากผู้ป่วย และให้บ้วนปากด้วยน้ำ รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด
ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค [6]
อาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ ว่าอาหารเหล่านั้นมีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลินหรือไม่ โปรดสังเกตุดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้สังเกตว่า หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ และถ้าอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ย ไม่ควรซื้อ และในส่วนของผักหรือผลไม้ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดมว่ามีกลิ่นแสบจมูกหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน
การกำจัดสารฟอร์มาลดีไฮด์
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Air Detoxify คิดค้นขึ้นมาเพื่อย่อยสลายสารเคมีชนิดนี้ หลักการคือการดูดซับคาร์บอนและย่อยส่วนที่เหลือออกมาให้รูปของไอน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่อุตสาหกรรมสี Nippon AirCare หรือ TOA Supershield Duraclean Oxygen Plus นำไปใช้ในการผลิตสีทาบ้าน [3] นอกจากนี้ จากงานวิจัยของดร. บี ซี วูฟเวอร์ตัน (Dr. B.C. Wolverton) นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซ่าซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของไม้ประดับในการกำจัดสารพิษหรือมลพิษในอากาศและตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานไปทั่วโลกในหนังสือชื่อ Eco-Friendly House Plant (ไม้ประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) พบว่าไม้ประดับที่เรานิยมปลูกกันทั่วไปไม่เพียงแต่ให้ความสวยงามแต่ยังมีฤทธิ์ช่วยดูดซับสารฟอร์มาลดีไฮด์ แอมโมเนีย ไซลีน ทูลีน รวมทั้งไอเสียที่เกิดจากมนุษย์ได้ดี ตัวอย่างไม้ประดับเช่นสาวน้อยประแป้ง (Dumb Cane) หมากเหลือง (Areca Palm หรือ Yellow Palm) เดหลี (Peace Lily) เยอบีร่า (Gerbera Daisy) วาสนาอธิษฐาน (Cornstalk Plant) จะเห็นได้ว่าล้วนแต่เป็นไม้ประดับที่ดูแลง่าย ลำต้นไม่ใหญ่ ใช้เนื้อที่ในการปลูกน้อย สามารถปลูกในกระถางและไว้ภายในตัวบ้านได้ [9]
อ้างอิง
- 1.http://สีทาบ้าน.net
- 2.CARB. Identification of formaldehyde as a toxic air contaminant. Part A. Exposure assessment. Technical support document. Sacramento, CA: Stationary Source Division; 1992. p. 103
- 3.สารฟอร์มาลดีไฮด์, http://th.wikipedia.org/wiki
- 4.http://www.srbr.in.th/Health/formaldehyde.htm
- 5.http://www.srbr.in.th/Health/formaldehyde.htm,
- 6.http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/kitchen-room/formaldehyde.html,
- 7.Kiernan, J.A. Formaldehyde, formalin, paraformaldehyde and glutaraldehyde: What they are and what they do. Microscopy Today (2000): 8-12.
- 8.Josje H.E. Arts , Monique A.J. Rennen, Cees de Heer, Inhaled formaldehyde: Evaluation of sensory irritation in relation to carcinogenicity, Regulatory Toxicology and Pharmacology 44 (2006) 144–160
- 9.http://www.tatgreenheart.com/archives/910